เยลลี่สำหรับแมลง VS. เยลลี่ปีโป้ ทั้ง 2 อย่างต่างกันอย่างไร?
สำหรับบทความนี้ผมจะมาไขข้อสงสัยสำหรับคนรักแมลงเลี้ยงแมลงที่กินอาหารจำพวกเยลลี่ แทนยางไม้และผลไม้ในธรรมชาติ เช่น ด้วง มด ฯลฯ
มีคนเลี้ยงแมลงหลายคนให้เยลลี่ปีโป้ซึ่งเป็นเยลลี่สำหรับคนให้กับแมลงพวกนี้กินกัน และก็มีอีกส่วนที่ให้กินเฉพาะเยลลี่สำหรับแมลงที่เราสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าออนไลน์
ซึ่งข้อถกเถียงและข้อโต้แย้งของคนเลี้ยงแมลงที่ใช้ปีโป้ก็คือ
“เยลลี่สำหรับด้วงหรือแมลงมันแพงไปและมีขนาดเล็กกว่าเยลลี่ปีโป้”
“เลี้ยงด้วยเยลลี่อะไรก็ได้ ตัวเมียก็ไข่เยอะเหมือนกัน!”
– เสียงสะท้อนจากคนเลี้ยง
ซึ่งประเด็นของข้อถกเถียงทำให้ผมได้ทำการรวบรวมข้อมูลและศึกษาเกี่ยวกับสารอาหารที่แมลงพวกนี้กินกัน ว่าจริง ๆ พวกมันต้องการอะไรกันแน่? เพื่อตอบข้อสงสัยว่าเราจำเป็นต้องรู้เรื่องของสรีรวิทยาของแมลงเสียก่อน ซึ่งผมจะใช้สรีรวิทยาของด้วงเป็นหลัก เพราะเว็บไซต์เน้นเรื่องด้วงเป็นหลัก
ในธรรมชาติพวกมันกินอะไรกัน?
1. Dynastinae (ด้วงกว่าง)



- ตัวเต็มวัยกิน น้ำเลี้ยงต้นไม้ และ ผลไม้สุก/เน่า เช่น กล้วย มะม่วง องุ่น
- บางสายพันธุ์กินน้ำหวานจากต้นไม้ที่มีรอยแตกหรือแผล
- เน้นคาร์โบไฮเดรตและสารอาหารจากผลไม้เป็นหลัก
2. Lucanidae (ด้วงคีม)



- ตัวเต็มวัยกิน น้ำเลี้ยงต้นไม้ เป็นหลัก และกินผลไม้เน่า/สุกด้วย
- ชอบน้ำเลี้ยงที่ไหลจากต้นไม้ที่มีแผล เช่นเดียวกับ Dynastinae
- มีการดูดซึมน้ำตาลจากน้ำเลี้ยงและผลไม้เพื่อใช้พลังงานบินและกิจกรรมต่าง ๆ
3. Cetoniinae (ด้วงดอกไม้)



- ตัวเต็มวัยกิน น้ำหวาน น้ำเลี้ยงต้นไม้ (sap) และ น้ำผลไม้ที่เน่า/สุก เช่น ผลไม้กล้วย ส้ม องุ่น มะม่วง
- กินน้ำตาลจาก น้ำหวานดอกไม้ และ น้ำเลี้ยงที่ไหลออกมาจากต้นไม้ที่ถูกทำลาย
- บางชนิดกินดอกไม้หรือเกสรด้วยเล็กน้อย
- พวกนี้ชอบอาหารที่หวานและมีคาร์โบไฮเดรตสูง (น้ำตาลง่าย ๆ) เพื่อพลังงานบินและเคลื่อนไหว
สารอาหารจำเป็นของแมลงอย่างเช่น ด้วง พวกมันต้องการอะไรบ้าง?
1. คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrates)
- ตัวเต็มวัย (เช่น Cetoniinae, Dynastinae, Lucanidae): ต้องการน้ำตาลจาก น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำเลี้ยงต้นไม้ ใช้เป็นพลังงานหลัก
2. น้ำ (Water)
- สำคัญสำหรับการรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย และช่วยในการย่อยอาหาร
- ด้วงได้จากน้ำผลไม้ น้ำเลี้ยงต้นไม้ หรือน้ำในอาหาร
3. โปรตีน (Proteins)
- ตัวเต็มวัย: ต้องการน้อย แต่ เพศเมีย ต้องการเพิ่มในช่วงสร้างไข่
📌 แหล่งโปรตีนธรรมชาติ:
- ซากพืชที่ย่อยสลายแล้ว
- มูลสัตว์
- จุลินทรีย์/เชื้อราในอาหาร
4. ไขมัน (Fats / Lipids)
- ให้พลังงานสำรอง และใช้ในระบบสืบพันธุ์
- ซึ่งขณะที่เป็นตัวอ่อนพวกมันจะสะสมไขมันสำหรับใช้ช่วงเข้าดักแด้ และระยะพักตัว อีกทั้งตัวเต็มวัยใช้ไขมันสำหรับกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง เช่น ต่อสู้ / ผสมพันธุ์
📌 แหล่งไขมัน: จากพืชผลไม้ น้ำเลี้ยง หรือโปรตีนที่เปลี่ยนรูปภายในร่างกาย
5. วิตามินและแร่ธาตุ (Vitamins and Minerals)
- แม้ต้องการในปริมาณน้อย แต่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ได้จากน้ำเลี้ยงต้นไม้และผลไม้ เช่น วิตามินบี, วิตามินซี, แคลเซียม, แมกนีเซียม, โพแทสเซียม ฯลฯ
ส่วนประกอบของเยลลี่สำหรับแมลงประกอบด้วยอะไรบ้าง
เปรียบเทียบจากเยลลี่ในท้องตลาดที่เราอาจคุ้นเคยได้ 3 แบรนด์ คือ
1.เยลลี่จากประเทศญี่ปุ่น แบรนด์ KBファーム

ส่วนประกอบของเยลลี่ KBファーム
ส่วนประกอบ: น้ำตาล, กลูโคส, น้ำผลไม้, นมผงพร่องมันเนย, โปรตีนจากนม, ทรีฮาโลส (น้ำตาลชนิดหนึ่ง), กรดซิตริก, โซเดียมซิเตรต, แร่ธาตุ[1]
2. เยลลี่จากประเทศไต้หวัน แบรนด์ Kingdom of Beetle Taiwan



ส่วนประกอบ: น้ำผลไม้, น้ำตาลจากอ้อย, ซูโครส (น้ำตาลทราย), ฟรุกโตส (น้ำตาลผลไม้), สารสะกัดจากสาหร่าย (ทำให้เกิดวุ้น), สารสกัดโปรตีนจากผัก (ที่อุดมด้วยกรดอะมิโนไกลซีน)[2]
3. เยลลี่จากประเทศไทย แบรด์ Siambeetle

ส่วนประกอบ: กลูโคส, กาแลคโตส, คอลลาเจน, ทรีฮาโลส, วิตามิน, โปรตีน [3]
ส่วนประกอบของปีโป้ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
ส่วนประกอบ: น้ำผลไม้ 15%, น้ำตาลฟรุกโตส 15% (น้ำตาลที่เจอในผลไม้ หวานกว่าน้ำตาลทราย), น้ำตาล 8%, วัตถุทำให้เป็นเจล: คาราจีแนน (INS407) 1% (สารจากสาหร่าย ใช้ทำให้เยลลี่เซ็ตตัว), สารควบคุมความเป็นกรด (INS296) 0.38% (คือกรดมาลิก – มักใช้ในของเปรี้ยว เช่น แอปเปิล), และสีผสมอาหาร
จากการค้นคว้าหาข้อมูลของผมเองก็ไม่สามารถหาหลักฐานของงานวิจัยเรื่องเยลลี่สำหรับแมลงมาสนับสนุนว่ามันดีกว่าของเยลลี่ที่คนโดยทั่วไปบริโภคกัน แต่โดยทั่วไปจากโซเซียลมีเดียในต่างประเทศมักแสดงความเห็นเกี่ยวกับเยลลี่สำหรับแมลงว่า มันเป็นเยลลี่สำหรับแมลงโดยเฉพาะการที่คนกินก็เป็นอันตราย และเยลลี่สำหรับคนก็เป็นอันตรายสำหรับแมลงเช่นกัน แต่ก็มีอยู่หลายคนไม่น้อยที่เคยลองชิมเยลลี่สำหรับแมลง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มันไม่เรื่อง! รสชาติไม่อร่อย! หวานน้อยหรือแทบไม่หวานเลย! ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้อันตรายต่อคนแน่นอน ถ้าคิดด้วยตรรกะว่า สัตว์กินได้ คนก็ย่อมกินได้ เพราะคนเป็นสัตว์จำพวกหนึ่ง และปริมาณความหวานที่ได้มาจากน้ำตาลต่อเยลลี่ 1 ชิ้น น้อยกว่าของคนแน่นอน เพราะปริมาณน้ำตาลที่คนได้รับมากกว่าแมลงอยู่แล้ว
จากส่วนประกอบทั้งหมดของเยลลี่ทั้ง 2 แบบ คือ เยลลี่สำหรับแมลง และ ปีโป้ ต่างไม่มีสารประกอบที่เป็นอันตรายจริง ๆ
แล้วเยลลี่ปีโป้นั่นมีประโยชน์ต่อด้วงหรือแมลงของเราหรือไม่? ซึ่งผมคิดว่าอาจจะมีสารอาหารบางอย่างที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากกระบวนการผลิต ในส่วนประกอบ เช่น แร่ธาตุ และวิตามิน จากน้ำผลไม้ที่ใช้เป็นส่วนประกอบก็อาจจะเจือจาง ซึ่งอาจไม่มีผลต่อแมลง แต่มีผลต่อคน เพราะปริมาณการรับแร่ธาตุ และวิตามิน มันน้อยเกินไปที่คนควรได้รับ ซึ่งเราจะเห็นโภชนาการของเยลลี่ปีโป้ต่อ 1 หน่วยบริโภค (ต่อ 1 ชิ้น) ได้

อีกทั้งสารอาหารจำพวกโปรตีน ในน้ำผลไม้ก็มีเช่นกัน แต่มันน้อยมาก ๆ สำหรับคน
- น้ำส้ม 100 มล. → โปรตีน ~0.5 กรัม
- น้ำแอปเปิ้ล → โปรตีน ~0.1 กรัม
แต่สำหรับแมลงนั่นไม่มีสัดส่วนของอาหารชัดเจนเหมือนกับคนว่า พวกมันควรกินโปรตีนเท่าไรถึงจะบำรุงไข่และน้ำเชื้อ หรือดีสำหรับการยืดอายุขัยของแมลง แต่สำหรับคนนั่นสัดส่วนของอาหารจำเป็นอย่างมากซึ่งผลต่อการใช้ชีวิตและการมีสุขภาพที่ดี
แล้วอะไรเป็นอันตรายต่อแมลงได้บ้าง?
จากการค้นคว้าข้อมูลถึงความเป็นไปได้ที่ส่วนประกอบของเยลลี่ที่คนสามารถรับประทานได้นั่น อาจมีบางอย่างที่มีผลต่อแมลง ซึ่งผมก็เคยได้พูดคุยเกี่ยวกับนักกีฏวิทยาผู้หนึ่งไว้ว่า เยลลี่ที่คนกินอะ จะมีส่วนไหนที่แมลงจะได้รับอันตรายได้บ้าง
⚠️แมลงบางชนิดมีปัญหาในการย่อยสลายน้ำตาลซูโครส
แมลงจำพวกด้วงที่อยู่ในอันดับ Coleoptera มีน้ำย่อยชนิดหนึ่งชื่อว่า Invertase ซึ่งมีหลักฐานจากงานวิจัย “A novel β-fructofuranosidase in Coleoptera: Characterization of a β-fructofuranosidase from the sugarcane weevil, Sphenophorus levis” พบว่าแมลงกลุ่มด้วงผลิตเอนไซม์ที่มี Invertase Activity ซึ่งสามารถสลายซูโครสให้กลายเป็นกลูโคสและฟรุกโตสได้ จากทางเดินอาหารส่วนกลาง (midgut)[4] ซึ่งพวกด้วงกว่าง ด้วงคีม หรือด้วงดอกไม้ไม่ได้มีปัญหาในส่วนของตรงนั้นเลยสักนิด
แต่ก็มีแมลงจำพวกเพลี้ยที่มีปริมาณ Invertase enzyme ในการย่อยน้ำตาลซูโครสต่ำมาก จึงทำให้พวกมันย่อยน้ำตาลชนิดนี้ไม่ค่อยดีหรือแทบไม่ได้เลย[5]
⚠️ อันตรายจากวัตถุกันเสีย
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ชื่อ “Laboratory and field evaluation of the repellency of six preservatives to red imported fire ants (Hymenoptera: Formicidae)[6]” ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของสารกันบูดที่ถูกใช้บ่อยในอุตสาหกรรมที่มีผลต่อ มดคันไฟ ได้แก่
- โพแทสเซียมซอร์เบต (potassium sorbate)
- โซเดียมเบนโซเอต (sodium benzoate)
- โซเดียมไดอะซิเตต (sodium diacetate)
- โซเดียมดีไฮโดรอะซิเตต (sodium dehydroacetate)
- แคลเซียมโพรพิโอเนต (calcium propionate)
- นีซิน (nisin)
ผลศึกษาพบว่า โซเดียมดีไฮโดรอะซิเตต มีผลกับมดคันไฟที่เขาไปเก็บอาหาร และดูว่าพวกมันไม่ชอบสารกันบูดชนิดนี้ ซึ่งหากอนุมานว่าพวกด้วงก็อาจไม่ชอบสารกันบูดพวกนี้ได้ และอาจมีผลต่อระบบทางเดินอาหารของพวกมัน
แต่ในเยลลี่ของแมลงอย่าง KBファーム ก็ใส่ sodium citrate เป็นวัตถุเจือปนอาหารซึ่งใช้ในการปรับค่า pH และแต่รสเปรี้ยว อีกทั้งมันยังวัตถุกันเสียที่รู้จักกันในชื่อ E331 (Trisodium citrate) ซึ่งก็ถูกใช้เจือปนในเยลลี่สำหรับแมลง แต่ก็อยู่ในปริมาณที่น้อยจนไม่เห็นผลกระทบของมัน
⚠️ อันตรายจากการหมักของเยลลี่สำหรับคนที่มีน้ำตาลสูงต่อแมลง
หลักการ: น้ำตาล + ความชื้น + เชื้อยีสต์/จุลินทรีย์ = การหมัก (Fermentation)
เยลลี่ที่มีน้ำตาลสูง อย่างเช่น ปีโป้ โดยเฉพาะแบบที่ใส่ไว้ในที่ชื้น ร้อน และสัมผัสอากาศ เช่น บนขี้เลื่อยหรือในกล่องเลี้ยงแมลงที่ปิดไม่สนิท มีโอกาสที่น้ำตาลในเยลลี่จะ:
- ถูกจุลินทรีย์หรือยีสต์ที่ปนเปื้อนในอากาศหรือขี้เลื่อยย่อยสลาย
- ทำให้เกิด การหมักแบบแอลกอฮอล์ (Alcoholic Fermentation)
- ผลลัพธ์คือได้ แอลกอฮอล์ + ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ผลที่ตามมากับด้วง
- แอลกอฮอล์ระเหย อยู่ในที่แคบ → ด้วง สูดดม หรือ กินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
→ อาจ มึน เมา อ่อนแรง หรือถึงตายได้ - pH เปลี่ยน ในกรณีที่หมักนาน → อาหารกลายเป็นกรดหรือแอลกอฮอล์เข้มข้น
→ สร้างทำลายระบบการย่อยอาหาร ของแมลง
วิธีป้องกันปัญหา
- เปลี่ยนเยลลี่ทุกครั้งเมื่อมีกลิ่นเปรี้ยว
- ใช้เยลลี่สำหรับแมลงไปเลย (หากไม่สะดวกใช้เยลลี่ก็สามารถใช้ผลไม้ได้เช่นกัน)
- ทำความสะอาดกล่องเลี้ยงและเปลี่ยนวัสดุรองพื้นอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีกลิ่น
บทสรุป
แมลงอย่างด้วง มด หรือแมลงกินหวานอื่น ๆ มีความต้องการสารอาหารเฉพาะที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ เช่น คาร์โบไฮเดรตจากน้ำเลี้ยงต้นไม้ โปรตีนจากจุลินทรีย์ และแร่ธาตุจากผลไม้
เยลลี่สำหรับแมลงถูกออกแบบมาให้ตอบสนองความต้องการเหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติ เยลลี่สำหรับแมลงและเยลลี่สำหรับคนอย่างปีโป้ ต่างก็สามารถนำมาใช้เลี้ยงแมลงได้เช่นกัน
ข้อถกเถียงที่ห้ามใช้เยลลี่สำหรับคน มักเกิดจากความกังวลเรื่องน้ำตาลบางชนิด เช่น ซูโครส ที่แมลงบางชนิดย่อยได้ไม่ดี และวัตถุกันเสียบางชนิด เช่น โซเดียมดีไฮโดรอะซิเตต (sodium dehydroacetate) ที่อาจรบกวนระบบย่อยอาหารของแมลงบางกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม หากใช้อย่างระมัดระวังในปริมาณพอเหมาะ และไม่ส่งผลต่อการวางไข่หรืออายุขัยของแมลง ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามสะดวก เพียงต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด ความสดใหม่ และสภาพแวดล้อมไม่ให้เกิดการหมัก ซึ่งอาจทำให้เยลลี่กลายเป็นพิษได้ ทางที่ดีที่สุด หากต้องการเลี้ยงแมลงให้มีสุขภาพดีในระยะยาว ควรเลือกเยลลี่ที่เหมาะสมกับสรีรวิทยาของแมลง หรือใช้ผลไม้สดเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด
Citation
1. KB Farm Insect Jelly Pro Jelly (0.6 oz (16 g), pack of 200 : Pet supplies. Amazon.co.jp: KB Farm Insect Jelly Pro Jelly (0.6 oz (16 g), Pack of 200 : Pet Supplies. (n.d.). https://www.amazon.co.jp/-/en/Farm-Insect-Jelly-Pro-Pack/dp/B00X55921K
2. “Beetle Jelly Case 16g Banana.” Beetlejelly.eu, 2025, www.beetlejelly.eu/beetle-jelly-full-16g-cases/150-beetle-jelly-case-16g-banana.html. Accessed 10 July 2025.
3. “เยลลี่ถ้วย”โปรตีน”(สีขาว) by Beetle.” Lnwshop.com, 2025, siambeetle.lnwshop.com/product/401/%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7-by-beetle. Accessed 10 July 2025.
4. P. N. Srivastava and J. L. Auclair, “Characteristics of invertase from the alimentary canal of the pea aphid, Acyrthosiphon pisum (Harr.) (Homoptera, Aphididae),” Journal of Insect Physiology, vol. 8, no. 5, pp. 527–535, Sep. 1962, doi: https://doi.org/10.1016/0022-1910(62)90063-x.
5. R. Pedezzi, F. P. P. Fonseca, S. Júnior, L. T. Kishi, W. R. Terra, and Flávio Henrique-Silva, “A novel β-fructofuranosidase in Coleoptera: Characterization of a β-fructofuranosidase from the sugarcane weevil, Sphenophorus levis,” Insect Biochemistry and Molecular Biology, vol. 55, pp. 31–38, Nov. 2014, doi: https://doi.org/10.1016/j.ibmb.2014.10.005.
6. W. Qin et al., “Laboratory and field evaluation of the repellency of six preservatives to red imported fire ants (Hymenoptera: Formicidae),” Journal of Asia-Pacific Entomology, vol. 20, no. 2, pp. 535–540, Mar. 2017, doi: https://doi.org/10.1016/j.aspen.2017.03.011.